เร่งช่วย พะยูนน้อยเกยตื้น พบมีแก๊สสะสมในลำไส้ส่วนท้ายปริมาณมาก ส่งผลให้ลอยตัวผิดปกติ เจ้าหน้าที่ต้องอยู่ในน้ำดูแล ตลอด 36 ชั่วโมง
กรณี เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2567 นักท่องเที่ยวพบลูกพะยูนเกยตื้นว่ายลำพัง ที่เกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือ พร้อมตรวจและให้การรักษา
วันที่ 12 ส.ค.2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวถึงกรณีลูกพะยูนเกยตื้นบริเวณเกาะปอดะ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขนย้ายมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
ล่าสุด เมื่อค่ำวานนี้ (11 ส.ค.) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รายงานความคืบหน้าให้ตนทราบว่าทางทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จากกรมทะเลฯ ได้อนุบาลและรักษาเบื้องต้นพร้อมวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม พบว่ามีการสะสมของแก๊สภายในลำไส้ส่วนท้ายปริมาณมากและผนังลำไส้หนาตัว ส่งผลให้พะยูนมีอาการลอยตัวผิดปกติ
จึงรักษาโดยการป้อนยา สารน้ำ และฉีดยาลดปวด ซึ่งการดูแลตลอด 36 ชั่วโมงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้สับเปลี่ยนกันเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ลูกพะยูนเกิดการสำลักน้ำ รวมถึงพาลูกพะยูนว่ายน้ำเพื่อกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหารและพร้อมช่วยเหลือสัตวแพทย์ในการทำหัตถการ รวมถึงติดตามอาการของลูกพะยูนอย่างใกล้ชิด
ตลอดระยะเวลาการดูแลนั้นเจ้าหน้าที่ต้องอยู่ในน้ำด้วยตลอด 36 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานที่ต้องเสียสละเป็นอย่างมาก ตนขอให้กำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานและขอให้ปฏิบัติการนี้สำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ตนได้กำชับให้กรมทะเล นำประสบการณ์จากน้องมาเรียม และยามีล มาปรับใช้ในการดูแลลูกพะยูนครั้งนี้ด้วย
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการอนุบาลและปฐมพยาบาลเบื้องต้นทางสัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษารวมถึงการวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยาและค่าชีวเคมีในเลือด การเพาะเชื้อตรวจหาความไวของยาต่อเชื้อแบคทีเรียเพื่อประกอบการพิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาอิเล็กโทรไลต์เพื่อลดสภาวะการขาดน้ำ การให้ยาระบายแก๊สและยาลดปวดเพื่อรักษาประคองอาการให้สัตว์รู้สึกสบายตัว
รวมถึงจัดหานมผงสูตรสำหรับลูกพะยูนโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทางโภชนาการของตัวสัตว์มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นตรวจค่าน้ำตาลในเลือดได้ 62 mg/dl ยังต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกและให้สารน้ำทดแทนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังวางแผนการจัดการการจัดหาอาสาสมัครในการดูแลและช่วยเหลือสัตวแพทย์ในการทำหัตถการ รวมถึงติดตามอาการของลูกพะยูนตลอด 24 ชั่วโมงต่อไป